Home Article First Impression : Zhiyun Crane M2 มัลติกิมบอลที่รองรับหลายอุปกรณ์

First Impression : Zhiyun Crane M2 มัลติกิมบอลที่รองรับหลายอุปกรณ์

1601
0

ปี 2019 นี้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการถ่ายวิดีโออย่าง Gimbal หรือไม้กันสั่นยังคงระอุ มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด พร้อมทั้งมีการเปิดตัวรุ่นใหม่ๆ ออกมาตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้งานกันอย่างต่อเนื่องจนเลือกไม่ถูกเลยว่าจะซื้อของค่ายไหนและจะเลือกรุ่นอะไรดี

ผมเองมีโอกาสได้ใช้ Gimbal ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ซึ่งตอนนั้นราคายังค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับตอนนี้ อย่าง DJI OSMO Mobile รุ่นแรกจำได้ว่าซื้อมา 12,700 บาท พอปี 2018 ราคาของ OSMO Mobile 2 เหลือเพียงราวๆ 4,000 บาทเท่านั้นเองในขณะที่ฟีเจอร์ต่างๆ ก็ดีขึ้นด้วย ถือว่าเป็นประโยชน์สำหรับผู้ซื้อที่มีการแข่งขันกันเช่นนี้

จริงๆ ช่วงปลายปี 2018 ต่อเนื่องถึงช่วงต้นปี 2019 ก็เป็นอีกช่วงที่มีการเปิดตัวรุ่นใหม่ของ 2 ค่ายดังอย่าง DJI Ronin และ Zhiyun Weebill Lab และ Crane 3 Lab แต่ผมว่าช่วงกลางปี 2019 นี่ดูจะเดือดและคึกคักยิ่งกว่านะ เพราะช่วงต้นปีนั้นอุปกรณ์ที่เปิดตัวดูจะเหมาะสำหรับกลุ่มมือโปรที่เน้นกล้องใหญ่ แต่ช่วงกลางปี 2019 นี้เป็น Gimbal ขนาดที่รองลงมาเหมาะสำหรับคนทั่วไปมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นฝั่ง DJI ที่เปิดตัว Ronin SC และตามด้วย OSMO Mobile 3 ทางด้าน Zhiyun ก็เปิดตัว Crane M2 และตามด้วย Smooth Q2

นานๆ จะได้เขียนรีวิว Gimbal สักทีเลยเกริ่นเสียยาว ท้าวความเสียหน่อย สำหรับอุปกรณ์ที่จะเขียนถึงจริงๆ ในครั้งนี้ก็คือ Zhiyun Crane M2 นั่นเอง

ว่าด้วย Zhiyun Crane M2

ผมเป็นคนหนึ่งที่มองหา Gimbal ที่สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ได้หลายตัว ไม่ได้หมายถึงใช้งานกับกล้องได้หลายตัวนะ ต้องบอกว่าใช้กับอุปกรณ์กล้องได้หลายประเภทสินะคือ ใช้ได้ทั้งสมาร์ทโฟน Action Cam และกล้องดิจิตอล ก่อนหน้านี้พยายามใช้กิมบอลที่ใช้สำหรับสมาร์ทโฟนมาใส่ GoPro ด้วยการหาอะแดปเตอร์มาช่วย แต่ไม่สำเร็จ เห็นหลายคนทำได้ แต่ผมว่ามันไม่เวิร์คเท่าไรเจอปัญหาหลายๆ อย่างทั้ง บาลานซ์ไม่ค่อยได้อันนี้สำคัญเลย ใช้ไปได้ไม่นานมอเตอร์จะร้อนและห้อยคอบตกเลย มุมมองไม่ค่อยได้บางทีต้องใช้งานแบบกลับทิศกลับทางเช่นต้องถือกิมบอลกลับด้าน ผมว่ามันฝืนๆ ไปหน่อย จึงพยายามหากิมบอลที่อย่างน้อยใช้ได้ทั้งสมาร์ทโฟนและ Action Cam

เจออยู่รุ่นหนึ่งที่ตอนนี้ก็ยังมีขายเป็นของ Feiyu แต่รู้สึกไม่ค่อยโดนใจเท่าไร ไม่เคยใช้ของค่ายนี้มาก่อน บังเอิญเห็นข่าวว่าจะมี Zhiyun Crane M2 ออกมาพอดี รองรับทั้ง 3 อุปกรณ์เลย จะว่า 4 เลยก็ได้นะคือ รองรับตั้งแต่ Action Cam, สมาร์ทโฟน, กล้อง Compact และกล้อง Mirrorless ตอบโจทย์เลย รออยู่ประมาณเดือนหนึ่งก็ได้มาใช้

แกะกล่องแนะนำอุปกรณ์สักหน่อย

ตอนที่กำลังหากิมบอลที่ใช้ได้กับกล้องหลายประเภทพยายามลองหา Crane M รุ่นแรกอยู่เหมือนกันนะ โชคดีที่ไม่ได้ซื้อไปเสียก่อน เพราะยังไงก็คงไม่ตอบโจทย์เหมือนกับ Zhiyun Crane M2 ซึ่งนอกจากตอบโจทย์ตรงใจแล้ว ราคาก็ถือว่าดีทีเดียว 8,500 บาท

ทีนี้มาดูเรื่องของอุปกรณ์กันก่อน รู้สึกว่าช่วงนี้หันไปทางไหน ค่ายไหนดูเหมือนจะชูจุดเด่นเรื่องของขนาดกันพอสมควรนะ โดยเฉพาะ Zhiyun นี่ดูจะเน้นมากเป็นพิเศษ ซึ่งตรงนี้ผมมีความเห็นกับเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน

Crane M2 ก็เป็นอีกรุ่นที่ชูจุดเด่นว่ามีขนาดที่ค่อนข้างเล็ก เล็กกว่า Zhiyun Smooth 4 เสียอีก ก็จริงตามนั้น ขนาดของกล่องมีขนาที่ค่อนข้างสันทัด ตัวกล่องสั้นกว่ากล่องของ Smooth 4 แต่หนากว่า เป็นกล่องโฟมเหมือนกันและที่ผมชอบคือมันเป็นสีดำ สวยดี!

อุปกรณ์ในกล่องก็จะมี…

  • Gimbal : Crane M2 ที่อยู่ในลักษณะพับเก็บพร้อมกับล็อกแกนไว้อย่างแน่นหนา
  • Plate ตัวยึดอุปกรณ์กับกิมบอล
  • Screw ล็อกเพลตกับอุปกรณ์ (เก็บดีๆ ระวังหาย)
  • Clamp สำหรับจับสมาร์ทโฟน
  • Tripod ขนาดย่อมๆ
  • สายคล้องมือกันหล่น
  • สายชาร์จ

ครั้งแรกที่ได้ลองจับลองถือ Zhiyun Crane M2

เป็นข้อมูลจากความเห็นส่วนตัวของผมเองนะครับ สำหรับตัว Crane M2 ในเรื่องขนาดถือว่าเล็กจริงๆ ตามที่โฆษณา ขนาดดูน่ารักไม่มีความเทอทะ ดูคล่องตัว เวลาถือไปถ่ายที่ไหนดูไม่เป็นจุดสนใจมากเกินไป เป็นจุดหนึ่งที่ชอบ

การออกแบบถือว่าน่าจับถือ ส่วนตัวผมที่ผ่านมาเรื่องดีไซน์ค่อนข้างเอนเอียงไปทาง DJI รู้สึกว่าดีไซน์ดูอินเตอร์ดี ถ้าพูดถึง Crane รุ่นอื่นๆ ของ Zhiyun ไม่นับ Weebil นะ ผมไม่ค่อยชอบทรงเท่าไร ไม่ชอบดีไซน์ด้วยและไม่ชอบทรงของแกนและด้ามจับด้วย แต่ชอบทรงของ Ronin แต่สำหรับ Crane M2 เรื่องดีไซน์ผมว่าโอเคเลย ตรงส่วนของด้ามจับมีลักษณะเหมือนเป็นหนังช่วยให้จับได้กระชับไม่ลื่น

ข้อสังเกต : เป็นเรื่องของดีไซน์เหมือนกัน แต่ไม่ใช่เรื่องความสวยงาม เป็นเรื่องของการใช้งาน ใครจะซื้อแนะนำให้ดูเรื่องนี้ด้วย อย่างที่ผมบอกไปข้างบนว่าเดี๋ยวนี้ Zhiyun ดูจะเน้นเรื่องของขนาด ชูจุดเด่นว่าขนาดเล็ก น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่จะเห็นว่าด้ามจับของ Crane M2 ค่อนข้างสั้น เรื่องนี้ผมสังเกตุตั้งแต่ Weebill Lab แล้วนะ ถ้าคนมือใหญ่อย่างผมถ้าจะไม่ให้มือโดนปุ่ม Record กับปุ่ม Mode (M) ซึ่งขณะใช้งานก็ไม่ควรโดน การกำมือบนด้ามจับก็จะต้องกำใต้ปุ่ม 2 ปุ่มนั้น ซึ่งมันจะกำได้ไม่เต็มมือเพราะด้ามมันสั้นและไม่มีการออกแบบให้มีการเว้าหรือแบ่งโซนของการจับถือ (ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ อย่าง Ronin SC ด้ามจับกับส่วนของปุ่มควบคุมจะแยกกันชัดเจน ซึ่งทำให้ขนาดตัวกิมบอลดูไม่เล็กเท่าไร แต่เรื่องการจับถือผมว่าดีกว่าแน่ๆ)

ผมเคยพูดกับพนักงาน Zhiyun ที่มาบุญครองถึงการจับ Weebill Lab พนักงานบอกว่าต้องใส่ Tripod จะได้พื้นที่ด้านล่างเพิ่มขึ้นก็จะจับได้เต็มมือ Crane M2 ก็เหมือนกัน แต่เวลาใช้งานจริง ตอนที่จะตั้งบาลานซ์แน่นอนว่าต้องใส่ Tripod แต่เวลาที่ถือใช้งานถ้าถอด Tripod ได้ก็จะดูคล่องตัวกว่า ใครที่มือใหญ่หรือให้ความสำคัญกับเรื่องของลักษณะการถือก็อย่าลืมดูในจุดนี้ ถ้าไม่ใส่ Tripod ด้านล่างของอุ้งมือก็จะเลยปลายด้ามจับของตัวกิมบอล ถ้าเลื่อนมือขึ้นไปบางทีก็เผลอไปโดนปุ่มโดยไม่ตั้งใจ

ยาวเลย ต่อเรื่องตัวกิมบอลอีกนิด ผมชอบที่เขาออกแบบตัวล็อกแกนมาให้นะ ปุ่มสีแดงๆ เล็กๆ ที่อยู่ด้านหลังเหนือปุ่ม Trigger เวลาพับเก็บแล้วแกนกิมบอลไม่แขว่งไปแขว่งมา และที่แกนยังมีลิ่มเล็กๆ ไว้ยึดกันเองด้วย

ตัวเพลตมีขนาดเล็กกระทัดรัดมีร่อง Slot มีให้ 2 ช่องเพื่อการบาลานซ์อุปกรณ์ที่ต่างกัน ตัวเพลตมี Safty ในการกรณีที่ลืมล็อกก็ไม่ต้องกลัวว่าอุปกรณ์จะตกหล่นเสียหาย

Clamp จับมือถือเป็นโลหะวัสดุถือว่าดี แต่ขา Tripod ไม่แน่ใจว่าแข็งแรงแค่ไหน เพราะเวลาใช้งานจริงจะติดตั้งตัวรับสัญญาญไวเลสพ่วงด้วย กลัวๆ อยู่ว่าใช้ๆ ไปขา Tripod จะหัก ตรงนี้ไม่เกี่ยวกับการออกแบบที่ไม่ดี เพราะการออกแบบกิมบอลจริงๆ แล้วเขาเน้นที่การยึดอุปกรณ์ตามน้ำหนัก การที่เรามาใส่อุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆ มันเป็นการประยุกต์ใช้งานของเราเอง กำลังจะหา Tripod ที่ดูแข็งแรงกว่านี้มาใช้แทน

ทดลองใช้ Crane M2 กับอุปกรณ์ที่รองรับ

ขณะที่เขียนรีวิวนี้ผมได้ Crane M2 มาราวๆ สัปดาห์หนึ่ง ยังไม่ได้เอาไปใช้งานจริงๆ แต่ก่อนเอาไปออกสนามก็ต้องทำความคุ้นเคยกันก่อน ทั้งเรื่องของการบาลานซ์และการติดตั้งอุปกรณ์เสริมที่จำเป็นต้องใช้ การใช้ Crane M2 กับอุปกรณ์ 3 ประเภทที่จะแชร์ต่อไปนี้เป็น First Impression นะครับ ยังไม่ได้ลองจริงๆ แต่ก็พอจินตนาการได้ว่าถ้าเอาไปใช้งานจริงน่าจะเป็นอย่างไรบ้าง

  • ใช้กับ GoPro Hero 7 Black สำหรับการใช้งานเพื่อถ่าย Footage ไม่เน้นเสียง การใส่ GoPro กับเคสของ GoPro เองที่ให้มาในกล่อง ไม่มีปัญหาเรื่องการบาลานซ์แต่อย่างใด ใส่ได้สบายๆ แต่มีข้อสังเกตุนิดหนึ่งคือ ปุ่ม Power ของ GoPro จะอยู่ด้านในฝั่งมอเตอร์ ดังนั้นเวลาตั้งบานลานซ์ให้ดูระยะให้ดี อย่าให้ GoPro ชิดมอเตอร์เกินไป ลองเอานิ้วสอดดูว่าเข้าไปกดปุ่ม Power ได้ไหม บางทีอาจจะต้องเลื่อนเพลตออกมาหน่อยไม่ดันเข้าไปจนสุด

แต่ถ้าจะ GoPro แล้วต่อไมค์นอกด้วย ไม่ว่าจะไมค์แบบ Shot Gun หรือไมค์ไวเลสก็ตาม ต้องเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม อุปกรณ์ต้องลงตัวกับโซลูชั่นนี้ ปัญหาสำคัญเลยคือ ถ้าจะต่อไมค์นอกกับ GoPro ต้องมีอะแดปเตอร์เพิ่มขึ้นมา ตัวมันใหญ่พอสมควรนะอะแดปเตอร์เนี่ย และสายมันก็ค่อนข้างแข็ง ซึ่งการใช้อะแดปเตอร์ต่อไมค์นอกไม่สามารถใช้เคสเดิมได้ (ไม่สะดวก) ที่ใช้ๆ กันก็จะซื้อเคสที่มีช่องสำหรับใส่อะแดปเตอร์ซึ่งมีอยู่หลายแบบหลายรุ่น ผมเคยใช้เคส GoPro ที่มีช่องอะแดปเตอร์อยู่ด้านล่างแต่ต่อกับ Monopod ไม่มีปัญหา ใช้งานได้ดีเลย แต่พอนำมาใส่กับ Crane M2 ปรากฏว่ามันตั้งบาลานซ์ไม่ได้ แต่ตอนนี้หาเคสที่ตอบโจทย์ได้แล้ว ลองผิดลองถูกกับเคสอยู่ 3 แบบ เล่นเอาเหนื่อยเลย

  • ใช้กับสมาร์ทโฟน ไม่มีปัญหาอะไร เพราะแคลมป์ที่ให้มาก็เป็นของ Zhiyun อยู่แล้ว ผมใช้ iPhone 7 นะ สำหรับสมาร์ทโฟนจอใหญ่ๆ อย่างพวก Plus หรือ Samsung Galaxy ผมว่าก็น่าจะใส่ได้สบายๆ นะ เรื่องน้ำหนักไม่มีปัญหาอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการบาลานซ์ตัวเพลตก็มี Slot ให้ปรับเลื่อนได้
  • ใช้กับ Mirrorless ถ้าใครอยากใช้งานได้แบบ Full Option เชื่อมต่อกิมบอลกับกล้องได้หรือควบคุมผ่านสมาร์ทโฟนได้ให้ตรวจสอบรุ่นที่รองรับก่อนนะ ส่วนผมเน้นใช้ฟังก์ชั่นของกิมบอลในการกันสั่นเท่านั้นเลยไม่ซีเรียสเรื่องนี้

นอกจากตรวจสอบกล้องว่ารุ่นไหนรองรับการเชื่อมต่อกับกิมบอลแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญก็คือเรื่องของน้ำหนัก Zhiyun Crane M2 รองรับน้ำหนัก 750 กรัม ต้องตรวจสอบให้ดีกว่ากล้องกับเลนส์ที่ใช้มีน้ำหนักเท่าไร

ส่วนเรื่องของการเชื่อมต่อไมค์นอกทั้งสมาร์ทโฟน กล้องคอมแพ็ก และ Mirrorless ไม่ค่อยยุ่งยากเท่า GoPro เพราะไม่ต้องมีอะแดปเตอร์ติดเพิ่มที่ตัวสมาร์ทโฟนหรือตัวกล้อง เพียงหา Magic Arm หรือขายึดต่อเพิ่มที่สกรูด้านล่างของด้ามจับหรือด้านข้างที่มีรูสกรูสำหรับติดตั้งอุปกรณ์เสริม แล้วนำเอาไมค์ Shot Gun หรือตัวรับสัญญาณไวเลสต่อกับ Hot Shoe แยกมาต่างหากแล้วต่อสายไปที่ตัวกล้องแค่นั้น

ข้อสังเกตุ : เรื่องการต่อไมค์แยก เท่าที่ลองต่อดูกับกล้อง Mirrorless สาย Input-Output แจ็ก TRS ที่ต่อจากตัวรับสัญญาณไวเลสไปที่ตัวกล้อง ผมรู้สึกว่าบางจังหวะสายที่ว่านี้มันทำให้แกนของกิมบอลแกว่งๆ อยู่บ้าง อาจเป็นเพราะตัวแกนมีขนาดเล็กไม่สามารถต้านแรงดึงรั้งของสายที่ระโยงระยางได้มากนักเหมือนกับกิมบอลใหญ่ๆ

6 Mode การใช้งานของ Crane M2

จากที่เคยใช้กิมบอลของ Zhiyun มาแล้ว ทำให้การทำความคุ้นเคยไม่ยากนัก ทั้งการเปลี่ยนโหมดและการควบคุมกิมบอล โดย Crane M2 มีทั้งหมด 6 โหมดคือ

  • PF Mode
  • L Mode
  • POV Mode
  • Go Mode
  • V Mode (หมุน 360 องศา)
  • F Mode

นอกจากโหมดพื้นฐานแล้วเมื่อเป็นกิมบอลรุ่นใหม่ในช่วงนี้โหมดที่จะได้เพิ่มมาและช่วยเพิ่มลูกเล่นในการถ่ายก็จะมี POV Mode และ V Mode ฟังก์ชั่นที่ให้มาถือว่าโอเคช่วยเพิ่มลูกเล่นให้กับการถ่ายได้อยู่ที่ใครจะประยุกต์ใช้อย่างไร

ข้อสังเกตุ : การใช้ POV Mode และ V Mode ซึ่งเป็นการ Rotate กล้องและการหมุนกล้อง 360 องศา หากใช้งานแล้วปรากฏว่ากล้องไม่เอียงตามที่ต้องการหรือไม่สามารถหมุนได้ 360 องศาแสดงว่าตั้งบาลานซ์ไม่ดี บางทีการถือถ่ายปกติอาจไม่พบว่าบาลานซ์มีปัญหาจนกว่าจะได้ใช้ 2 โหมดนี้

สำหรับใครที่กำลังลังเลว่าจะเลือก Zhiyun Crane M2 ดีหรือจะเลือก DJI Ronin SC ดี เดี๋ยวมาแชร์กันอีกครั้งครับ